Accessibility Tools

ศาลแพ่งมีนบุรี
Minburi Civil Court
คำถามที่ถูกถามบ่อย
ถาม - ตอบ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคืออะไร

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในศาลแต่เดิมจะเกิดขึ้นหลังมีการฟ้องคดีและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแล้วเท่านั้น ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. ๒๕๖๒ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๐ ตรี ให้อำนาจผู้ไกล่เกลี่ยหรือผู้ประนีประนอมของศาลตามลำดับสามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้แม้ยังไม่มีการฟ้องคดี โดยคู่กรณีไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และหากคู่กรณีขอไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องตามมาตรา ๒๐ ตรี และตกลงกันได้โดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลมีอำนาจพิพากษาตามยอมให้มีสภาพบังคับได้ทันทีโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีอีก

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคืออะไร

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคือกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยมีบุคคลที่สามเป็นคนกลางคอยแนะนำช่วยเหลือคู่กรณีเพื่อค้นหาข้อเท็จจริง ข้อเสนอ และนำไปสู่ทางออกในการระงับข้อพิพาท

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมีข้อดีอย่างไร

1. สะดวก เพราะคู่กรณียื่นคำร้องได้หลายช่องทาง ไม่ต้องฟ้องคดีก็ไกล่เกลี่ยได้

2. รวดเร็ว เพราะมีขั้นตอนเข้าใจง่าย ไม่เป็นทางการ ใช้เวลาน้อยก็ยุติข้อพิพาทได้โดยไม่ต้องสืบพยาน

3. ประหยัด เพราะลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดียาวนานในศาล หากไกล่เกลี่ยหลังฟ้องสำเร็จ ศาลจะคืนค่าขึ้นศาลให้ส่วนการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ไม่เสียค่าใช้จ่าย

4. เป็นธรรม เพราะมีคนกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดช่วยเหลือตลอดกระบวนการข้อมูลเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยเป็นความลับ

5. มีสภาพบังคับ เพราะหากตกลงกันได้ ศาลพิพากษาตามยอมได้

ผลลัพธ์ที่ได้จากการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคืออะไร

- ในการไกล่เกลี่ยหลังฟ้อง หากคู่กรณีตกลงกันได้ โจทก์อาจถอนฟ้องคดี หรือคู่ความอาจทำข้อตกลงในรูปแบบสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วขอให้ศาลพิพากษาตามยอม แต่หากคู่กรณีตกลงกันไม่ได้ จะเข้ากระบวนการพิจารณาคดีและสืบพยานเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาต่อไป

- ในการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง หากคู่กรณีตกลงกันได้ อาจทำข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความ และหากมีเหตุจำเป็น อาจขอให้ศาลพิพากษาตามยอมให้ได้ แต่หากตกลงกันไม่ได้ถือว่าการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องยุติ แต่ไม่ตัดสิทธิคู่กรณีที่จะนำข้อพิพาทมาฟ้องร้องต่อศาลเป็นคดีต่อไป

ผู้ประนีประนอมคือใคร

ผู้ประนีประนอมคือบุคคลหรือคณะบุคคลที่เป็นคนกลางได้รับการแต่งตั้งโดยผู้พิพากษา ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้ยุติลงได้ด้วยความสมัครใจของคู่กรณีผู้ประนีประนอมในศาลต้องผ่านการอบรมหลักสูตรเทคนิคหรือวิธีการไกล่เกลี่ยที่สำนักงานศาลยุติธรรมรับรอง มีประสบการณ์และความตั้งใจในการไกล่เกลี่ย

ใครสามารถเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้บ้าง

คู่ความ ตัวแทน ทนายความ ที่ปรึกษา และผู้มีอำนาจตัดสินใจ สามารถเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ เว้นแต่ ผู้ประนีประนอมหรือผู้พิพากษาจะอนุญาตให้เฉพาะบุคคลบางคนหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่ร่วมประชุมไกล่เกลี่ย

คลิปวิดิโอไกล่เกลี่ย